คณะกรรมการลงทุนพบสมาชิก

สวัสดีครับ เพื่อนสมาชิกทุกท่าน ห่างหายกันไปนานเลยนะครับพอดีเกิด Covidc และผมก็ติดภารกิจไม่มีเวลาพอเลย ไม่ค่อยได้เสาะหาความรู้ใหม่ๆ มาให้เพื่อนสมาชิกได้รับทราบ เรียนรู้ นำไปปรับใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองและครอบครัว อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตในยามที่ต้องเกษียณอานุราชการ พอดีในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ในการประชุมประจำเดือนของสหกรณ์เรา ได้มีการพิจารณาเงินกู้ให้แก่สมาชิกที่เป็นหนี้ภายนอกสหกรณ์ฯ และมีภาระในการใช้หนี้มากจนกระทบต่อการดำรงชีวิตของสมาชิก จึงเกิดการรวมหนี้มาไว้ที่สหกรณ์ฯ เพื่อผ่อนคลายภาระการขำระหนี้ดังกล่าวซึ่งเรียกว่า “คลินิก” ผมจึงกอยากนำเรียนให้เพื่อนๆสมาชิกได้ทราบความเป็นมาดั้งเดิมซักนิดนะครับ จะได้เข้าใจเกี่ยวกับ “คลินิก” มากขึ้น

          “คลินิก” แนวคิดเดิมของเราคือ เราพบว่ามีสมาชิกบางท่านมีภาระหนี้สินภายนอกโดยเฉพาะกับธนาคารพานิชย์ต่างๆ ในขณะที่สมาชิกท่านนั้นๆ ก็ยังคงมีภาระหนี้อยู่กับสหกรณ์ด้วย และสมาชิกท่านนั้นๆยังคงมีความสามารถในการขำระหนี้ได้อย่างดี แม้จะต้องชำระทั้งสองทางก็ตาม สหกรณ์ฯจึงควรพิจารณาให้สมาชิกเหล่านี้ ได้มีการกู้เงินเพิ่มเพื่อไปชำระหนี้ให้กับธนาคารพานิชย์ที่ต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่าสหกรณ์ฯ ซึ่งจะทำให้ภาระทางการเงินของเพื่อนสมาชิกนั้นๆ ผ่อนคลายลงและเมื่อสิ้นปีบัญชี ยังได้รับเงินก้อนจากการเฉลี่ยคืนของสหกรณ์ฯ สามารถนำไปใช้จ่ายหรือใช้หนี้สหกรณ์ฯเพื่อลดภาระหนี้ในปีต่อไปได้ อันจะทำให้เพื่อนสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณราชการ

          แต่จากการพิจารณาการกู้เงินในโครงการ “คลินิก” ของเพื่อนสมาชิกที่ผ่านมาในรอบ 2 – 3 เดือน ผมเห็นข้อมูลที่นำเสนอแล้วก็เรียนตามตรงนะครับว่า ค่อนข้างหนักใจ เพราะภาระหนี้สินที่เพื่อนสมาชิกที่เข้าโครงการ “คลินิก” ในปัจจุบัน ล้วนเป็นหนี้สินที่เกิดจากการใช้ “บัตรเครดิต” เกือบทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนครับ หนี้ประเภทนี้ในทางการเงินมันคือหนี้สินที่เกิดจากการบริโภคทั้งสิ้น นั่นคือท่านใช้จ่ายเงินมากกว่ารายได้ที่ท่านได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งจะทำให้เกิดการติด “กับดัก” หนี้ซึ่งยากที่จะหลุดพ้นหากไม่พยายามแก้ไขและที่สำคัญคือภาระที่มีอยู่กับสถาบันการเงินนั้นมีมูลค่าสูงจนตัวเพื่อนสมาชิกเองไม่สามารถจะชำระได้อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะโอนหนี้มารวมกันไว้ที่สหกรณ์ฯ เพื่อนสมาชิกก็ยังคงต้องชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ จนไม่อาจมีเงินเหลือพอใช้จ่าย คณะกรรมการสหกรณ์ฯเองก็ต้องพยายามตรวจสอบอย่างละเอียด รอบคอบ เพราะเพื่อนสมาชิกอาจนำบัตรเครดิตไปสร้างหนี้เพิ่มเติมจนรับภาระไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและครอบครัวในที่สุด ส่งผลต่อเพื่อนสมาชิกทั้งหมดเพราะยอดหนี้นั้นจะถูกหักออกจากเงินได้สุทธิในแต่ละปี ส่งผลให้เงินปันผลของสมาชิก “ทุกท่าน” ลดลง

          ผมอ่านเจอวิธีแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตของทีม Krungsri The COACH เห็นว่ามีประโยชน์สำหรับเพื่อสมาชิกหากนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติจะช่วยลดภาระหนี้สินของสมาชิกได้จึงได้คัดลอกนำมาเสนอแก่ทุกท่านครับ

4 ขั้นตอนหยุดวงจรจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ

ขั้นตอนที่ 1 สำรวจ และรู้จักตัวเองให้มากขึ้น

เรามีรายได้เท่าไร แต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง สามารถจ่ายเพิ่มได้อีกเท่าไร แล้วมีเงินเหลือเก็บไหม เหล่านี้ล้วนเป็น checklist ที่ต้องมีทุกครั้งก่อนคิดเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่คนที่มีปัญหาเรื่องหนี้มักเกิดจากการไม่รู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตัวเอง ดังนั้น การเริ่มสำรวจตัวเองเพื่อเข้าใจปัญหาจะช่วยให้มองภาพรวมของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น วิธีที่จะทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น คือ ควรทำงบรายรับรายจ่ายของตัวเองให้ละเอียด โดยเฉพาะค่าบัตรเครดิตที่ต้องจ่ายคืนในแต่ละเดือน

ขอยกตัวอย่าง นาย A ประกอบคำอธิบาย ทั้ง 4 ขั้นตอนโดยละเอียด

รายรับ บาทต่อเดือน

เงินเดือน                                                      25,000

รายจ่าย        

ค่าสาธารณูปโภค                                            2,000

ประกันสังคม                                                   750

ค่าเช่าห้อง                                                      6,000

ยอดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 1                              5,600

ยอดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 2                              2,000

ยอดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 3                              2,400

ค่าใช้จ่ายทั่วไป                                               8,000

สุทธิ                                                             -1,750

จะพบว่านาย A มีรายรับ น้อยกว่า รายจ่าย ทำให้เงินทุกเดือนติดลบ อยู่เดือนละ 1,750 บาท จากการเป็นหนี้บัตรเครดิต 3 ใบ และผ่อนจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตรวมกันเดือนละ 10,000 บาท (ขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% จากยอดคงค้างรวม 125,000 บาท)

หากยังจ่ายขั้นต่ำไหว และเงินรายเดือนยังไม่ติดลบ แสดงว่ายังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่หากไม่สามารถชำระไหว หรือขาดชำระในบางงวด แนะนำให้อ่านขั้นตอนถัดไป

 

ขั้นตอนที่ 2 หยุดวงจรหนี้

ง่าย ๆ ก็คือไม่ก่อหนี้ใหม่ ใช้จ่ายอย่างระวังระวัง หยุดพฤติกรรมฟุ่มเฟือย ไม่แก้หนี้ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น

 

นาย A มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ รายได้ไม่พอจ่าย และไม่อยากเสียเครดิต ดังนั้น พอถึงกำหนดชำระหนี้ก็ใช้วิธีกดเงินจากบัตรเครดิตใบที่ 1 ไปจ่ายใบที่ 2 พอถึงกำหนดชำระบัตรใบที่ 2 ก็ไปกดเงินจากใบที่ 1 มาจ่าย วนไปเรื่อย ๆ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นการจัดสรรเงินที่ดี หมุนเงินเก่ง แต่หารู้ไม่ว่าจะกำลังก่อหนี้เพิ่มพูนสะสม ตัวอย่างเช่น กดเงินจากบัตรใบที่ 1 จำนวน 10,000 บาท เพื่อไปจ่ายค่าบัตรใบที่ 2 เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายคืนบัตรใบที่ 1 เราจะไม่ได้จ่ายคืนแค่ 10,000 บาท แต่เราต้องจ่าย 10,000 + 300 ค่าธรรมเนียมบัตร ทำให้ A ต้องจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตสูงขึ้น และติดลบหนักขึ้นวนเป็นวงจร จนไปสิ้นสุดที่วงเงินบัตรเครดิตก็จะเต็มทั้ง 3 ใบ และกู้เพิ่มไม่ได้แล้ว จึงควรปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อหยุดวงจรหนี้

บัตรเครดิต

บัตรเครดิตใบที่ 1

ยอดกดที่ต้องกดจากบัตรเครดิต

ใบที่ 2 เพื่อมาชำระหนี้ใบที่ 1

ยอดกดที่ต้องกดจากบัตรเครดิต

ใบที่ 1 เพื่อมาชำระหนี้ใบที่ 2

ยอดกดเงินสด

10,000

10,300

10,609

ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสด 3%

300

309

318.27

ต้นทุนหนี้รวม

10,300

10,609

10,927.27

แม้จะพยายามหาเงินมาจ่ายหนี้เท่าไร แต่หากต้นเหตุของหนี้ ซึ่งก็คือพฤติกรรมการใช้เงินเกินตัว หรือใช้อย่างไม่ถูกต้อง ยังไม่ถูกแก้ไข ปัญหาก็ไม่มีทางสิ้นสุด จึงควรหยุดวงจรหนี้ก่อนไปขั้นตอนต่อไป เมื่อสายหนี้ก็จะขาดลง ก็จะช่วยให้เราสามารถจัดการหนี้ที่มีอยู่ให้ค่อย ๆ หาย และหมดไปได้

 

ขั้นตอนที่ 3 หาแหล่งเงินเพื่อจัดการหนี้

พยายามหาแหล่งเงินมาลดยอดหนี้เพื่อให้ภาระลดลง เช่น ดูว่ามีเงินฝาก เงินลงทุนที่เก็บไว้ หรือของใช้ส่วนตัวที่มีมูลล่า ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ แปรสภาพเอามาใช้หนี้ก่อน ไว้ปลดหนี้ได้ค่อยสร้างขึ้นมาใหม่

 

ขอยืมจากคนในครอบครัว หรือคนรู้จัก มาใช้หนี้ก่อนเพราะไม่มีดอกเบี้ย ลดต้นทุนหนี้ (แต่ยืมแล้วต้องคืนด้วยนะ!!) ทำงานพิเศษ เพิ่มรายได้

 

แต่หากแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้ได้ดีปัญหาก็จะจบ แต่ถ้ายังไม่ไหวจำเป็นต้องใช้ขั้นตอนสุดท้าย

 

ขั้นตอนที่ 4 รวมหนี้

หากขั้นตอนที่ 1-3 ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เห็นผล หรือยังคงมีปัญหาเหล่านี้อยู่ เช่น

รายรับติดลบรายจ่ายเท่าเดิม

จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตไม่ไหว

จ่ายบัตรเครดิตล่าช้า หมุนเงินลำบาก

 

การรวมหนี้คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

การรวมหนี้ เป็นการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเดียวมาจ่ายหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด และเป็นหนี้กับสถาบันการเงินแห่งเดียว ประโยชน์ของการรวมหนี้ จะทำให้มีภาระในการผ่อนชำระเพียงแห่งเดียวจากเดิมที่จ่ายกระจัดกระจายหลายที่ ลดปัญหาการจ่ายล่าช้าหรือลืมชำระหนี้ และที่สำคัญช่วยให้ยอดขั้นต่ำในการผ่อนชำระต่อเดือนลดลง

3 ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนพิจารณารวมหนี้

 

  1. สรุปหนี้ที่มีอยู่ทุกรายการ

สำรวจยอดรวมทั้งหมดเป็นจำนวนเงินเท่าใด และการผ่อนในปัจจุบันเดือนละเท่าไหร่

รายการ

วันที่จ่าย

ยอดหนี้

ผ่อนขั้นต่ำ 10%

บัตรเครดิต 1

1

50,000

5,000

บัตรเครดิต 2

4

20,000

2,000

บัตรเครดิต 3

20

30,000

3,000

รวม

 

100,000

10,000

 

  1. ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน

เพื่อให้รู้ว่ามีกำลังผ่อนไหวเดือนละเท่าไร โดยความสามารถในการผ่อนประเมินได้จากรายรับรายจ่ายประจำเดือน หากนาย A มียอดผ่อนต่อเดือนลดลงเดือนละ 2,000 บาท จากเดิมที่ผ่อน 10,000 บาท ต่อเดือน จะทำให้แต่ละเดือนไม่ติดลบ นาย A จึงมีความสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกินเดือนละ 8,000 บาท

                   รายรับ                                      บาทต่อเดือน

เงินเดือน                                                       25,000

                   รายจ่าย                                   

ค่าสาธารณูปโภค                                            2,000

ประกันสังคม                                                   750

ค่าเช่าห้อง                                                      6,000

ค่าใช้จ่ายทั่วไป                                                7,000

เงินออม                                                           500

ยอดผ่อนชำระที่ไหว                                          8,250

 

  1. หาข้อมูลสถาบันการเงินที่ให้บริการรวมหนี้

สามารถหาข้อมูลแหล่งที่ให้บริการรวมหนี้ โดยเลือกค้นหาแหล่งสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยต่ำ และสำคัญที่สุด ผ่อนชำระลดลงอยู่ในระดับที่ชำระไหว

Krungsri The COACH แนะนำสินเชื่อรวมหนี้

จากตัวอย่างด้านบน หากนาย A ตัดสินใจรวมหนี้ไว้ที่ Krungsri iFIN ยอดหนี้รวม 100,000 บาท จะทำให้การผ่อนชำระขั้นต่ำ ลดลงเหลือ 3,596 บาทต่อเดือน (ดอกเบี้ย 24% ระยะเวลา 60 เดือน ลดต้นลดดอก)

จากการประเมินความสามารถในการจ่าย นาย A สามารถผ่อนชำระได้เดือนละ 8,000 บาท หากสามารถผ่อนชำระได้ทุกเดือน จะทำให้ยอดหนี้หมดไวขึ้นภายใน 20 เดือน และประหยัดดอกเบี้ยจากการลดต้นลดดอกได้ประมาณ 60,000 บาท

จะเห็นได้ว่าการรวมหนี้บัตรเครดิตช่วยให้สะดวกในการผ่อนชำระคืนหนี้ จากเดิมต้องจ่ายเดือนละ 10,000 บาททำให้เงินติดลบทุกเดือน กลายเป็นจ่ายขั้นต่ำเพียงเดือนละไม่ถึง 4,000 บาท และจากเดิมที่ต้องชำระหนี้สามครั้งต่อเดือน รวมหนี้มาจ่ายเจ้าหนี้เพียงรายเดียว ลดโอกาสที่จะหลุดหรือลืมชำระหนี้ โดยในการขอสินเชื่อ กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว

อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกปกติ 21% - 25% ต่อปี*

สรุป

การเลือกใช้บัตรเครดิตเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการใช้จ่ายสินค้าและบริการต่าง ๆ เพราะมีสิทธิประโยชน์มากมาย เพียงแค่เราระมัดระวังและใช้โดยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากขาดวินัยทางการเงิน และใช้จ่ายเกินตัว อาจทำให้เกิดปัญหาต้องจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เมื่อพลาดไปแล้วการสำรวจตัวเอง หยุดวงจรปัญหาเดิมโดยเร็ว และรวมหนี้บัตรเครดิต จะช่วยรักษาสถานะการเงินที่ดีของเราให้มั่นคง

 

(1 พฤศจิกายน 2567 : 2041 )

เรียน  เพื่อนสมาชิกที่เคารพทุกท่าน

                   ก่อนอื่นต้องขอโทษเพื่อนสมาชิกทุกท่านด้วยนะครับ ที่ข้อเขียนของผมครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลงทุน แต่เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจกับเพื่อนสมาชิกในประเด็นการพิจารณาทุนการศึกษาของสหกรณ์ฯ ครับ

                   เนื่องจากภายหลังที่สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้ประกาศรายชื่อท่านสมาชิกที่ได้รับทุนการศึกษาของบุตรจากสหกรณ์ฯ ก็มีข้อสอบถามเข้ามาพอสมควรว่า ทำไมตนเองจึงไม่ได้รับทุนการศึกษา ทั้งๆ ที่ในปีที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น (ปี 2565) ก็ยังได้รับ แต่ปีนี้กลับไม่ได้รับคณะกรรมการใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณา มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้สมาชิกบางกลุ่มหรือไม่ กรรมการไม่เห็นใจสมาชิกฯลฯ และอื่นๆ อีกมากมาย

                   ผมในฐานะของคณะกรรมการผู้พิจารณาทุนการศึกษาของบุตรสมาชิกคนหนึ่ง จึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจกับสมาชิกและตั้งใจที่จะทำภายหลังจากที่ได้รวบรวมประเด็นข้อสงสัยของเพื่อนสมาชิกให้ครบถ้วน แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผมติดภารกิจบางประการ ประกอบกับต้องจัดเตรียมสัมมนาสมาชิกในประเด็นที่ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยคือ สังคมผู้สูงวัย ตามที่คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ได้กำหนดแนวทางไว้ ทำให้การชี้แจงต้องล่าช้าเนิ่นนานมา แต่ก็โชคดีครับที่การประชุมคณะกรรมการดำเนินการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาได้แนะนำว่าการสัมมนาของสมาชิกที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่นำเสนอขออนุมัตินั้น ยังขาดรายละเอียดและความเหมาะสมบางประการ ขอให้เลื่อนการจัดออกไปก่อน ช่วงนี้ก็เลยมีเวลาได้มาชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ทุนการศึกษากับเพื่อนสมาชิก

                   ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า “ทุนการศึกษาของบุตรสมาชิก” จะเป็นส่วนหนึ่งของ “กองทุนสวัสดิการสมาชิกและครอบครัว พ.ศ. 2566” นั้นคือ เงินทุนที่จะนำมามอบให้เป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรของสมาชิกต้องจัดสรรมาจาก กองทุนสวัสดิการสมาชิก

          แล้วเงินกองทุนสวัสดิการมาจากไหนเหรอครับ คำตอบก็คือ เงินกองทุนสวัสดิการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99.99 มาจากการจัดสรรกำไรสุทธิในแต่ละปี ซึ่งกำไรสุทธิก็คือเงินที่จะต้องนำมาจ่ายปันผลให้แก่สมาชิกนั่นเอง เราจะเห็นได้ว่ากำไรสุทธิ คือเงินของสมาชิกผู้ถือหุ้นทุกคนที่จะได้รับตามสัดส่วนการถือหุ้น ดังนั้น ถ้าในรอบปีที่ผ่านมาเราใช้เงินกองทุนสวัสดิการไปมากเท่าไร ก็ต้องตัดเงินกำไรสุทธิที่จะจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นมาสมทบกองทุนสวัสดิการสมาชิกมากขึ้น เงินปันผลของสมาชิกต่อหุ้นจึงต้องลดลง ภาระหน้าที่ของกรรมการคือ ต้องระมัดระวังใช้จ่ายเงินทุนสวัสดิการให้สมเหตุสมผล รักษาความสมดุลของระดับเงินปันผลของสมาชิกทุกท่านให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ไม่ต่ำจนเกินควร

          แล้วเงินกองทุนสวัสดิการใช้จ่ายอะไรได้บ้าง หลักคิดในการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกก็คือ สวัสดิการที่สหกรณ์จะจัดขึ้นนั้น ต้องเป็นสวัสดิการที่สมาชิก“ทุกคนมีสิทธิที่จะได้ใช้บริการ เพราะเงินสวัสดิการเป็นของสมาชิก“ทุกคน” จึงได้มีการกำหนดระเบียบขึ้นมาเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติคือ “ระเบียบว่าด้วยทุนสวัสดิการสมาชิกและครอบครัวปี 2566” โดยกำหนดไว้ว่า ทุนสวัสดิการให้จ่ายได้ดังต่อไปนี้

  1. สวัสดิการเพื่อสงเคราะห์สมาชิกและครอบครัวที่ถึงแก่กรรม (เป็นไปตามระเบียบฯ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท)
  2. สวัสดิการเพื่อจ่ายเงินบำเหน็จสมาชิก (รับเมื่ออายุครบ 60 ปีหรือเกษียณอายุราชการ)
  3. สวัสดิการเพื่อสงเคราะห์สมาชิกผู้ประสบภัยพิบัติ
  4. สวัสดิการเพื่อส่งเสริมการศึกษาบุตรสมาชิก
  5. สวัสดิการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร เช่น การช่วยเหลือสมาชิกในเรื่องค่าจัดการศพ ค่าพวงหรีด ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าสวัสดิการที่จัดขึ้นตามข้อ 1, 2, 3 และข้อ 5 เป็นสวัสดิการที่สมาชิก“ทุกคน”มีสิทธิได้ใช้ประโยชน์

แต่สวัสดิการส่งเสริมการศึกษาบุตร สมาชิกที่มีบุตรกำลังศึกษาอยู่เท่านั้นที่มีสิทธิใช้ประโยชน์ แต่ สมาชิกที่ยังเป็นโสด สมาชิกที่สมรสแล้วแต่ไม่มีบุตรและสมาชิกที่บุตรจบการศึกษาเล่าเรียนแล้ว จะไม่มีสิทธิได้ใช้ประโยชน์ การกำหนดวงเงินเพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก จึงต้องกำหนดให้เหมาะสมกับรายได้ของสหกรณ์ เพื่อมิให้กระทบต่อเงินปันผลของสมาชิกในภาพรวม และมุ่งเน้นให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกผู้มีรายได้น้อยเป็นสำคัญ

สหกรณ์ฯ จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติ โดยคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ ผู้มีหน้าที่จัดสรรทุนจึง

ต้องขออนุมัติวงเงินที่จะจัดสรรทุน พร้อมกำหนดจำนวนทุนที่จะมอบให้แก่บุตรของสมาชิก ทุกระดับชั้นการศึกษา จากคณะกรรมการดำเนินการ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จึงออกประกาศสหกรณ์ฯ แจ้งสมาชิกให้ยื่นขอรับทุนตามแบบที่กำหนด จากนั้นจึงนำมาให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด ในระเบียบว่าด้วยการใช้ทุนสวัสดิการสมาชิกและครอบครัวเพื่อส่งเสริมการศึกษาบุตรของสมาชิกปี 2566 แล้วเรียงลำดับคะแนนจากมากที่สุดลงมาตามลำดับ และมอบทุนการศึกษาตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติ เรียงตามลำดับลงมาจนครบถ้วนตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งในการพิจารณามอบทุนการศึกษาบุตรประจำปี 2566 ที่ผ่านมาคณะกรรมการก็ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และขอเรียนยืนยันว่า เราปฏิบัติงานโดยยึดมั่นในผลประโยชน์ของสมาชิก“ทุกคน”เป็นหลัก ไม่มีการแก้ไขระเบียบหรือใช้มติใดๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิกรายหนึ่ง รายใด อย่างแน่นอน

                   ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เพื่อนสมาชิกคงเข้าใจการทำงานของคณะกรรมการได้ชัดเจนมากขึ้นและท่านสามารถขอดูเอกสาร รายละเอียด การทำงานทุกขั้นตอนได้ที่สหกรณ์ตลอดเวลาครับ

                                                                 ผู้แทนคณะกรรมการประชาสัมพันธ์

(15 มิถุนายน 2566 : 1048 )

          หวัดดีครับ เพื่อนๆสมาชิกสหกรณ์ตั้งแต่สถานการณ์ Covid ระบาด เลยไม่ค่อยได้มีโอกาส สื่อสารกันเลยครับ เพราะทุกท่านก็จะมีความระมัดระวัง ป้องกันตัวเอง ไม่อยากเดินทางไปไหน ไม่มีเวลาที่จะสนใจภาระรอบข้างมากนัก ประกอบกับผมเองก็ระมัดระวังตนเองเช่นกัน แต่ก็ดีครับ ได้ใช้เวลาว่างติดตามข่าวสาร ภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยผันผวนมากที่สำคัญ คือ แนวโน้มภาวะดอกเบี้ยมีทิศทางที่สูงขึ้น ทำให้กรรมการสหกรณ์ฯเราติดตาม สถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สถานการณ์ต่างๆคลี่คลายไปมากแล้ว Covid กลายเป็นโรคประจำถิ่น ความผันผวนของดอกเบี้ยลดลง แม้จะยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น สหกรณ์ฯเราเห็นเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรจะพิจารณาปรับโครงสร้างเงินทุนของสหกรณ์ฯ โดยการเพิ่มวงเงินรับฝาก เพิ่มมากขึ้น ผมจึงขอถือโอกาสนี้สื่อสารกับเพื่อนสมาชิกที่เคารพอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

          ในการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น กรรมการดำเนินการต้องเข้าใจโครงสร้างทางการเงิน หรือ ทุนของสหกรณ์ แหล่งที่มาของเงินทุน

          ทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ

                   1 เงินหุ้น หรือ ทุนเรือนหุ้นของสมาชิก

                   2 เงินรับฝากจากสมาชิก

          เงินของสหกรณ์ (ทุน) = ทุนเรือนหุ้นของสมาชิก + เงินรับฝากจากสมาชิก

เมื่อมีเงินทุนสหกรณ์ฯจึงทำการให้สินเชื่อแก่สมาชิก กู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาทางการเงิน เปิดโอกาสให้สมาชิกสมารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น หากสมาชิกมีความต้องการใช้เงินสูงกว่าที่สหกรณ์ฯมี กรรมการดำเนินการก็จะจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ โดยการกู้ยืมเพื่อนำเงินมาบริการสมาชิก แต่หากความต้องการใช้บริการทางการเงินมีน้อยกว่าทุนที่สหกรณ์ฯมี สหกรณ์ฯย่อมมีเงินทุนเหลืออยู่ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการจำเป็นต้องบริหารเงินทุนส่วนเกิน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกให้มากที่สุดโดยการนำเงินส่วนเกินนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ ตามกรอบระเบียบที่กฎหมายกำหนด

          ปัจจัยสำคัญในการบริหารเงินขอสหกรณ์ออมทรัพย์ คือ

                   1 ต้นทุนทางการเงินของสหกรณ์ฯ

                   2 โครงสร้างทางการเงินของสหกรณ์ฯ

  1. ต้นทุนทางการเงินของสหกรณ์ฯ คือ ค่าใช้จ่ายที่สหกรณ์ฯต้องจ่ายให้แก่แหล่งเงินทุนอันได้แก่ เงินปันผลของทุนเรือนหุ้นของสมาชิก และอัตราดอกเบี้ยจ่ายสำหรับเงินรับฝากจากสมาชิก ซึ่งนับว่ามีส่วนสำคัญต่อการบริหารมากที่สุด เพราะหากกำหนดอัตราผลตอบแทนจ่ายแก่แหล่งเงินทุนต่ำเกินไปเงินทุนก็จะไหลออกจากสหกรณ์ฯ ทำให้สหกรณ์ฯไม่มีเงินเพียงพอที่จะบริการสมาชิก แต่หากกำหนดอัตราผลตอบแทนสูงเกินไป เงินทุนจะไหลเข้าสหกรณ์ฯมากเกินกว่าความต้องใช้ของสมาชิกทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินสูง หรือมีเงินส่วนเกินที่ทำให้ภาวะอัตราดอกเบี้ยจ่ายมีมากขึ้น ปันผลลดลง

          คณะกรรมการดำเนินการจึงต้องมีการพิจารณา กำหนดอัตราดอกเบี้ยจ่ายและเงินปันผลให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพคล่องของทุนดำเนินการ อัตราดอกเบี้ยธนาคารและแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต

  1. โครงสร้างทางการเงินของสหกรณ์ฯ หมายถึง องค์ประกอบหรือสัดส่วนของเงินทุนที่สหกรณ์ฯจัดหามาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งจะประกอบด้วยเงินทุนเรือนหุ้นของสมาชิก เงินรับฝากจากสมาชิก เงินทุนสำรอง เงินทุนสวัสดิการและเงินทุนอื่นๆ ของสหกรณ์ฯรวมถึงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินแต่อย่างไรก็ตามเงินทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ กว่าร้อยละ 90 จะเป็นเงินทุนจากทุนเรือนหุ้นและเงินรับฝากจากสมาชิก

          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้แนะนำโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมของสหกรณ์ออมทรัพย์ คือ อัตราส่วนของเงินทุนเรือนหุ้นที่เหมาะสมคือ ประมาณร้อยละ 20 – 30 ของเงินทุนสหกรณ์ฯ ในขณะที่อัตราส่วนเงินรับฝากควรจะเป็นร้อยละ 60 – 70 ของเงินทุนสหกรณ์ฯ

          ปัจจุบันสถานะทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง จำกัด อยู่ในสภาวะที่มีสภาพคล่องสูงมาก โดยในปี 2560 สหกรณ์ฯมี เงินทุน(หุ้น+เงินรับฝากจากสมาชิก) เท่ากับ 2,642 ล้านบาท ในขณะที่มีสมาชิกกู้เงินเพียง 1,850 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องล้นระบบอยู่ 790 ล้านบาทที่สหกรณ์ฯจะต้องดูแล ในขณะที่ในปี 2565 เงินทุนสหกรณ์ฯมีสูงกว่า 3,164 ล้านบาท แต่สมาชิกกู้เงินเพียง 1,491 ล้านบาท และมีเงินส่วนเกินถึง 1,600 กว่าล้านบาท คณะกรรมการดำเนินการจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการบางอย่างเพื่อป้องกันมิให้มีสภาพคล่องทางการเงินล้นระบบมากเกินควร อันจะส่งผลกระทบต่อเงินปันผล โดยการลดการสะสมหุ้นของสมาชิกที่มีหุ้นสะสมมาก จึงอาจทำให้เพื่อนๆสมาชิกที่มีหุ้นสะสมสูง จะสงสัยบ้างว่าทำไมสหกรณ์ฯจึงไม่หักเงินค่าหุ้นจากท่านหือหักเงินลดลง ในขณะเดียวกันคณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาโครงสร้างทางการเงินของสหกรณ์ฯพบว่าอัตราส่วนของเงินรับฝากต่อทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ฯในปี 2562 เท่ากับ 1 : 1.2

          คือมีเงินรับฝากเพียง 1,312 ล้านบาท แต่มีหุ้นสูงถึง 1,614 ล้านบาท และในปี 2565 สหกรณ์ฯ มีเงินฝาก 1,378 ล้านบาท แต่มีหุ้นถึง 1,785 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนที่เหมาะสมตามคำแนะนำของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ คือ เงินรับฝากควรจะสูงเป็น 3 เท่าของทุนเรือนหุ้น

          คณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อเปิดโอกาสให้เพื่อนสมาชิกได้ออมเงินทดแทนการออมหุ้นจึงได้พิจารณาเพิ่มวงเงินรับฝากจากสมาชิก โดยกำหนดให้สมาชิกสามารถฝากออมทรัพย์ได้อย่างไม่จำกัด จำนวนเงินฝาก และให้สมาชิกสามารถฝากออมทรัพย์พิเศษได้ในวงเงิน 300,000 บาท/เดือน

          การเพิ่มเงินรับฝากของสหกรณ์ฯจึงไม่ใช่การระดมเงินฝากแต่เป็นการเพิ่มช่องทางการออมให้กับสมาชิกอันเนื่องจากถูกจำกัดการออมหุ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการปรับโครงสร้างทางการเงินของสหกรณ์ฯให้เข้าใกล้มาตรฐานที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ฯแนะนำอีกทางหนึ่งด้วย

 

(07 กุมภาพันธ์ 2566 : 597 )

        สวัสดีครับ เพื่อนๆสมาชิกสหกรณ์ฯทุกท่านช่วงนี้ได้ดำเนินการปิดบัญชีของสหกรณ์ฯเรียบร้อยแล้วผมจึงสรุปภาพรวมของการลงทุน ในปี 2565 ของสหกรณ์ฯ และประมาณการวงเงินที่จะลงทุนในปี 2566 เพื่อเพื่อนสมาชิกจะได้ทราบในเบื้องต้นครับ

        ในปี 2565 สหกรณ์ฯมีรายได้จากการลงทุนและผลตอบแทนจากการฝากเงินกับ สหกรณ์อื่นประมาณ 62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 4 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 38.61 ของรายได้ของสหกรณ์ฯ ซึ่งในปี 2566 คาดว่ารายได้ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของรายได้สหกรณ์ฯ

        กรอบการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง จำกัด

        ในปี 2566 สหกรณ์ฯยังคงมุ่งมั่นเน้นและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเงินลงทุนมากกว่าผลตอบแทนในระดับสูง โดยยึดหลักปฏิบัติตามข้อกฎหมายระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด

        ในปี 2566 การลงทุนของสหกรณ์ปรับเปลี่ยนจากกรอบเดิมเล็กน้อย โดยเน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น ลดการซื้อหุ้นในชุมนุมสหกรณ์และหุ้นกู้ลดลง โดยปรับเป็นการฝากในสหกรณ์อื่นเพิ่มมากขึ้น ดังนี้

        1 จัดซื้อพัฒธบัตรรัฐบาลร้อยละ 15  ของเงินลงทุน เป็นวงเงินประมาณ 54 ล้านบาท

        2 ฝากในชุมนุมสหกรณ์และสหกรณ์อื่นร้อยละ 40 ของเงินลงทุนเป็นวงเงินประมาณ 143 ล้านบาท

        3 ซื้อหุ้นชุมนุมสหกรณ์และ/หรือหุ้นกู้ร้อยละ 45 ของเงินลงทุนเป็นวงเงินประมาณ 160 ล้านบาท

        ประมาณการวงเงินลงทุนในปี 2566

                1 เงินค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นมา                                                50 ล้านบาท

                2 เงินรับฝากที่เพิ่มขึ้น                                                   20 ล้านบาท

                3 หุ้นกู้และเงินฝากสหกรณ์อื่นที่ครบกำหนด                   217 ล้านบาท

                4.ประมาณการเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกเพิ่มขึ้น/ลดลง          70 ล้านบาท

                รวม ประมาณการเงินลงทุนในปี 2566 ทั้งสิ้น

                                                 =(50+20+217) - (-70) = 357 ล้านบาท

 

(03 ตุลาคม 2565 : 445 )

        สวัสดีครับ พี่ๆเพื่อนๆ สมาชิกที่เคารพ ในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ ท่านสมาชิกที่เคารพทุกท่านคงคุ้นเคยกับธุรกรรมการลงทุนของสหกรณ์ฯ กันมาบ้างพอสมควรแล้ว แต่อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับสมาชิกหลายๆ ท่านก็พอสรุปได้ว่าเพื่อนๆ สมาชิกบางส่วนยังไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนของสหกรณ์ฯ มากนักจึงมักจะมีคำถามอยู่เสมอ ว่าทำไมต้องลงทุน ลงทุนในหุ้นมันเสี่ยงเกินไปหรือเปล่า ถูกกฎหมายหรือเปล่า ผมในฐานะประธานการลงทุนเห็นว่าควรต้องเปิดคอลัมน์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในสื่อออนไลน์ของสหกรณ์ฯ เพื่อให้สมาชิกใช้เป็นช่องทางในการติดต่อ สอบถามข้อสงสัยต่างๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และใช้เป็นช่องทางในการรายงานให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เป็นสมาชิกทุกท่านได้ทราบความเคลื่อนไหวของกิจกรรมการลงทุนของสหกรณ์ฯรวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นนับจากนี้เป็นต้นไป เรียนเชิญทุกท่านติดตามได้นะครับ หากมีข้อสงสัยสอบถาม กรุณาติดต่อตามช่องทางดังนี้

          เว็บไซต์      : fishcorp.in.th

          เฟสบุ๊ค        : facebook.com/DOFFishcorp

          เพจเฟสบุ๊ค  : สหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง จำกัด

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง