ข่าวสารสหกรณ์
- รายละเอียด
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่
- รายละเอียด
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่
- รายละเอียด
คณะกรรมการลงทุนพบสมาชิก
สวัสดีครับ เพื่อนสมาชิกทุกท่าน ห่างหายกันไปนานเลยนะครับพอดีเกิด Covidc และผมก็ติดภารกิจไม่มีเวลาพอเลย ไม่ค่อยได้เสาะหาความรู้ใหม่ๆ มาให้เพื่อนสมาชิกได้รับทราบ เรียนรู้ นำไปปรับใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองและครอบครัว อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตในยามที่ต้องเกษียณอานุราชการ พอดีในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ในการประชุมประจำเดือนของสหกรณ์เรา ได้มีการพิจารณาเงินกู้ให้แก่สมาชิกที่เป็นหนี้ภายนอกสหกรณ์ฯ และมีภาระในการใช้หนี้มากจนกระทบต่อการดำรงชีวิตของสมาชิก จึงเกิดการรวมหนี้มาไว้ที่สหกรณ์ฯ เพื่อผ่อนคลายภาระการขำระหนี้ดังกล่าวซึ่งเรียกว่า “คลินิก” ผมจึงกอยากนำเรียนให้เพื่อนๆสมาชิกได้ทราบความเป็นมาดั้งเดิมซักนิดนะครับ จะได้เข้าใจเกี่ยวกับ “คลินิก” มากขึ้น
“คลินิก” แนวคิดเดิมของเราคือ เราพบว่ามีสมาชิกบางท่านมีภาระหนี้สินภายนอกโดยเฉพาะกับธนาคารพานิชย์ต่างๆ ในขณะที่สมาชิกท่านนั้นๆ ก็ยังคงมีภาระหนี้อยู่กับสหกรณ์ด้วย และสมาชิกท่านนั้นๆยังคงมีความสามารถในการขำระหนี้ได้อย่างดี แม้จะต้องชำระทั้งสองทางก็ตาม สหกรณ์ฯจึงควรพิจารณาให้สมาชิกเหล่านี้ ได้มีการกู้เงินเพิ่มเพื่อไปชำระหนี้ให้กับธนาคารพานิชย์ที่ต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่าสหกรณ์ฯ ซึ่งจะทำให้ภาระทางการเงินของเพื่อนสมาชิกนั้นๆ ผ่อนคลายลงและเมื่อสิ้นปีบัญชี ยังได้รับเงินก้อนจากการเฉลี่ยคืนของสหกรณ์ฯ สามารถนำไปใช้จ่ายหรือใช้หนี้สหกรณ์ฯเพื่อลดภาระหนี้ในปีต่อไปได้ อันจะทำให้เพื่อนสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณราชการ
แต่จากการพิจารณาการกู้เงินในโครงการ “คลินิก” ของเพื่อนสมาชิกที่ผ่านมาในรอบ 2 – 3 เดือน ผมเห็นข้อมูลที่นำเสนอแล้วก็เรียนตามตรงนะครับว่า ค่อนข้างหนักใจ เพราะภาระหนี้สินที่เพื่อนสมาชิกที่เข้าโครงการ “คลินิก” ในปัจจุบัน ล้วนเป็นหนี้สินที่เกิดจากการใช้ “บัตรเครดิต” เกือบทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนครับ หนี้ประเภทนี้ในทางการเงินมันคือหนี้สินที่เกิดจากการบริโภคทั้งสิ้น นั่นคือท่านใช้จ่ายเงินมากกว่ารายได้ที่ท่านได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งจะทำให้เกิดการติด “กับดัก” หนี้ซึ่งยากที่จะหลุดพ้นหากไม่พยายามแก้ไขและที่สำคัญคือภาระที่มีอยู่กับสถาบันการเงินนั้นมีมูลค่าสูงจนตัวเพื่อนสมาชิกเองไม่สามารถจะชำระได้อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะโอนหนี้มารวมกันไว้ที่สหกรณ์ฯ เพื่อนสมาชิกก็ยังคงต้องชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ จนไม่อาจมีเงินเหลือพอใช้จ่าย คณะกรรมการสหกรณ์ฯเองก็ต้องพยายามตรวจสอบอย่างละเอียด รอบคอบ เพราะเพื่อนสมาชิกอาจนำบัตรเครดิตไปสร้างหนี้เพิ่มเติมจนรับภาระไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและครอบครัวในที่สุด ส่งผลต่อเพื่อนสมาชิกทั้งหมดเพราะยอดหนี้นั้นจะถูกหักออกจากเงินได้สุทธิในแต่ละปี ส่งผลให้เงินปันผลของสมาชิก “ทุกท่าน” ลดลง
ผมอ่านเจอวิธีแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตของทีม Krungsri The COACH เห็นว่ามีประโยชน์สำหรับเพื่อสมาชิกหากนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติจะช่วยลดภาระหนี้สินของสมาชิกได้จึงได้คัดลอกนำมาเสนอแก่ทุกท่านครับ
4 ขั้นตอนหยุดวงจรจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ
ขั้นตอนที่ 1 สำรวจ และรู้จักตัวเองให้มากขึ้น
เรามีรายได้เท่าไร แต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง สามารถจ่ายเพิ่มได้อีกเท่าไร แล้วมีเงินเหลือเก็บไหม เหล่านี้ล้วนเป็น checklist ที่ต้องมีทุกครั้งก่อนคิดเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่คนที่มีปัญหาเรื่องหนี้มักเกิดจากการไม่รู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตัวเอง ดังนั้น การเริ่มสำรวจตัวเองเพื่อเข้าใจปัญหาจะช่วยให้มองภาพรวมของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น วิธีที่จะทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น คือ ควรทำงบรายรับรายจ่ายของตัวเองให้ละเอียด โดยเฉพาะค่าบัตรเครดิตที่ต้องจ่ายคืนในแต่ละเดือน
ขอยกตัวอย่าง นาย A ประกอบคำอธิบาย ทั้ง 4 ขั้นตอนโดยละเอียด
รายรับ บาทต่อเดือน
เงินเดือน 25,000
รายจ่าย
ค่าสาธารณูปโภค 2,000
ประกันสังคม 750
ค่าเช่าห้อง 6,000
ยอดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 1 5,600
ยอดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 2 2,000
ยอดจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 3 2,400
ค่าใช้จ่ายทั่วไป 8,000
สุทธิ -1,750
จะพบว่านาย A มีรายรับ น้อยกว่า รายจ่าย ทำให้เงินทุกเดือนติดลบ อยู่เดือนละ 1,750 บาท จากการเป็นหนี้บัตรเครดิต 3 ใบ และผ่อนจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตรวมกันเดือนละ 10,000 บาท (ขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% จากยอดคงค้างรวม 125,000 บาท)
หากยังจ่ายขั้นต่ำไหว และเงินรายเดือนยังไม่ติดลบ แสดงว่ายังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่หากไม่สามารถชำระไหว หรือขาดชำระในบางงวด แนะนำให้อ่านขั้นตอนถัดไป
ขั้นตอนที่ 2 หยุดวงจรหนี้
ง่าย ๆ ก็คือไม่ก่อหนี้ใหม่ ใช้จ่ายอย่างระวังระวัง หยุดพฤติกรรมฟุ่มเฟือย ไม่แก้หนี้ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น
นาย A มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ รายได้ไม่พอจ่าย และไม่อยากเสียเครดิต ดังนั้น พอถึงกำหนดชำระหนี้ก็ใช้วิธีกดเงินจากบัตรเครดิตใบที่ 1 ไปจ่ายใบที่ 2 พอถึงกำหนดชำระบัตรใบที่ 2 ก็ไปกดเงินจากใบที่ 1 มาจ่าย วนไปเรื่อย ๆ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นการจัดสรรเงินที่ดี หมุนเงินเก่ง แต่หารู้ไม่ว่าจะกำลังก่อหนี้เพิ่มพูนสะสม ตัวอย่างเช่น กดเงินจากบัตรใบที่ 1 จำนวน 10,000 บาท เพื่อไปจ่ายค่าบัตรใบที่ 2 เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายคืนบัตรใบที่ 1 เราจะไม่ได้จ่ายคืนแค่ 10,000 บาท แต่เราต้องจ่าย 10,000 + 300 ค่าธรรมเนียมบัตร ทำให้ A ต้องจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตสูงขึ้น และติดลบหนักขึ้นวนเป็นวงจร จนไปสิ้นสุดที่วงเงินบัตรเครดิตก็จะเต็มทั้ง 3 ใบ และกู้เพิ่มไม่ได้แล้ว จึงควรปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อหยุดวงจรหนี้
บัตรเครดิต |
บัตรเครดิตใบที่ 1 |
ยอดกดที่ต้องกดจากบัตรเครดิต ใบที่ 2 เพื่อมาชำระหนี้ใบที่ 1 |
ยอดกดที่ต้องกดจากบัตรเครดิต ใบที่ 1 เพื่อมาชำระหนี้ใบที่ 2 |
ยอดกดเงินสด |
10,000 |
10,300 |
10,609 |
ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสด 3% |
300 |
309 |
318.27 |
ต้นทุนหนี้รวม |
10,300 |
10,609 |
10,927.27 |
แม้จะพยายามหาเงินมาจ่ายหนี้เท่าไร แต่หากต้นเหตุของหนี้ ซึ่งก็คือพฤติกรรมการใช้เงินเกินตัว หรือใช้อย่างไม่ถูกต้อง ยังไม่ถูกแก้ไข ปัญหาก็ไม่มีทางสิ้นสุด จึงควรหยุดวงจรหนี้ก่อนไปขั้นตอนต่อไป เมื่อสายหนี้ก็จะขาดลง ก็จะช่วยให้เราสามารถจัดการหนี้ที่มีอยู่ให้ค่อย ๆ หาย และหมดไปได้
ขั้นตอนที่ 3 หาแหล่งเงินเพื่อจัดการหนี้
พยายามหาแหล่งเงินมาลดยอดหนี้เพื่อให้ภาระลดลง เช่น ดูว่ามีเงินฝาก เงินลงทุนที่เก็บไว้ หรือของใช้ส่วนตัวที่มีมูลล่า ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ แปรสภาพเอามาใช้หนี้ก่อน ไว้ปลดหนี้ได้ค่อยสร้างขึ้นมาใหม่
ขอยืมจากคนในครอบครัว หรือคนรู้จัก มาใช้หนี้ก่อนเพราะไม่มีดอกเบี้ย ลดต้นทุนหนี้ (แต่ยืมแล้วต้องคืนด้วยนะ!!) ทำงานพิเศษ เพิ่มรายได้
แต่หากแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้ได้ดีปัญหาก็จะจบ แต่ถ้ายังไม่ไหวจำเป็นต้องใช้ขั้นตอนสุดท้าย
ขั้นตอนที่ 4 รวมหนี้
หากขั้นตอนที่ 1-3 ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เห็นผล หรือยังคงมีปัญหาเหล่านี้อยู่ เช่น
รายรับติดลบรายจ่ายเท่าเดิม
จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตไม่ไหว
จ่ายบัตรเครดิตล่าช้า หมุนเงินลำบาก
การรวมหนี้คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร
การรวมหนี้ เป็นการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเดียวมาจ่ายหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด และเป็นหนี้กับสถาบันการเงินแห่งเดียว ประโยชน์ของการรวมหนี้ จะทำให้มีภาระในการผ่อนชำระเพียงแห่งเดียวจากเดิมที่จ่ายกระจัดกระจายหลายที่ ลดปัญหาการจ่ายล่าช้าหรือลืมชำระหนี้ และที่สำคัญช่วยให้ยอดขั้นต่ำในการผ่อนชำระต่อเดือนลดลง
3 ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนพิจารณารวมหนี้
- สรุปหนี้ที่มีอยู่ทุกรายการ
สำรวจยอดรวมทั้งหมดเป็นจำนวนเงินเท่าใด และการผ่อนในปัจจุบันเดือนละเท่าไหร่
รายการ |
วันที่จ่าย |
ยอดหนี้ |
ผ่อนขั้นต่ำ 10% |
บัตรเครดิต 1 |
1 |
50,000 |
5,000 |
บัตรเครดิต 2 |
4 |
20,000 |
2,000 |
บัตรเครดิต 3 |
20 |
30,000 |
3,000 |
รวม |
|
100,000 |
10,000 |
- ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน
เพื่อให้รู้ว่ามีกำลังผ่อนไหวเดือนละเท่าไร โดยความสามารถในการผ่อนประเมินได้จากรายรับรายจ่ายประจำเดือน หากนาย A มียอดผ่อนต่อเดือนลดลงเดือนละ 2,000 บาท จากเดิมที่ผ่อน 10,000 บาท ต่อเดือน จะทำให้แต่ละเดือนไม่ติดลบ นาย A จึงมีความสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกินเดือนละ 8,000 บาท
รายรับ บาทต่อเดือน
เงินเดือน 25,000
รายจ่าย
ค่าสาธารณูปโภค 2,000
ประกันสังคม 750
ค่าเช่าห้อง 6,000
ค่าใช้จ่ายทั่วไป 7,000
เงินออม 500
ยอดผ่อนชำระที่ไหว 8,250
- หาข้อมูลสถาบันการเงินที่ให้บริการรวมหนี้
สามารถหาข้อมูลแหล่งที่ให้บริการรวมหนี้ โดยเลือกค้นหาแหล่งสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยต่ำ และสำคัญที่สุด ผ่อนชำระลดลงอยู่ในระดับที่ชำระไหว
Krungsri The COACH แนะนำสินเชื่อรวมหนี้
จากตัวอย่างด้านบน หากนาย A ตัดสินใจรวมหนี้ไว้ที่ Krungsri iFIN ยอดหนี้รวม 100,000 บาท จะทำให้การผ่อนชำระขั้นต่ำ ลดลงเหลือ 3,596 บาทต่อเดือน (ดอกเบี้ย 24% ระยะเวลา 60 เดือน ลดต้นลดดอก)
จากการประเมินความสามารถในการจ่าย นาย A สามารถผ่อนชำระได้เดือนละ 8,000 บาท หากสามารถผ่อนชำระได้ทุกเดือน จะทำให้ยอดหนี้หมดไวขึ้นภายใน 20 เดือน และประหยัดดอกเบี้ยจากการลดต้นลดดอกได้ประมาณ 60,000 บาท
จะเห็นได้ว่าการรวมหนี้บัตรเครดิตช่วยให้สะดวกในการผ่อนชำระคืนหนี้ จากเดิมต้องจ่ายเดือนละ 10,000 บาททำให้เงินติดลบทุกเดือน กลายเป็นจ่ายขั้นต่ำเพียงเดือนละไม่ถึง 4,000 บาท และจากเดิมที่ต้องชำระหนี้สามครั้งต่อเดือน รวมหนี้มาจ่ายเจ้าหนี้เพียงรายเดียว ลดโอกาสที่จะหลุดหรือลืมชำระหนี้ โดยในการขอสินเชื่อ กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกปกติ 21% - 25% ต่อปี*
สรุป
การเลือกใช้บัตรเครดิตเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการใช้จ่ายสินค้าและบริการต่าง ๆ เพราะมีสิทธิประโยชน์มากมาย เพียงแค่เราระมัดระวังและใช้โดยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากขาดวินัยทางการเงิน และใช้จ่ายเกินตัว อาจทำให้เกิดปัญหาต้องจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เมื่อพลาดไปแล้วการสำรวจตัวเอง หยุดวงจรปัญหาเดิมโดยเร็ว และรวมหนี้บัตรเครดิต จะช่วยรักษาสถานะการเงินที่ดีของเราให้มั่นคง
(1 พฤศจิกายน 2567 : 2041 )
เรียน เพื่อนสมาชิกที่เคารพทุกท่าน
ก่อนอื่นต้องขอโทษเพื่อนสมาชิกทุกท่านด้วยนะครับ ที่ข้อเขียนของผมครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลงทุน แต่เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจกับเพื่อนสมาชิกในประเด็นการพิจารณาทุนการศึกษาของสหกรณ์ฯ ครับ
เนื่องจากภายหลังที่สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้ประกาศรายชื่อท่านสมาชิกที่ได้รับทุนการศึกษาของบุตรจากสหกรณ์ฯ ก็มีข้อสอบถามเข้ามาพอสมควรว่า ทำไมตนเองจึงไม่ได้รับทุนการศึกษา ทั้งๆ ที่ในปีที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น (ปี 2565) ก็ยังได้รับ แต่ปีนี้กลับไม่ได้รับคณะกรรมการใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณา มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้สมาชิกบางกลุ่มหรือไม่ กรรมการไม่เห็นใจสมาชิกฯลฯ และอื่นๆ อีกมากมาย
ผมในฐานะของคณะกรรมการผู้พิจารณาทุนการศึกษาของบุตรสมาชิกคนหนึ่ง จึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจกับสมาชิกและตั้งใจที่จะทำภายหลังจากที่ได้รวบรวมประเด็นข้อสงสัยของเพื่อนสมาชิกให้ครบถ้วน แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผมติดภารกิจบางประการ ประกอบกับต้องจัดเตรียมสัมมนาสมาชิกในประเด็นที่ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยคือ สังคมผู้สูงวัย ตามที่คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ได้กำหนดแนวทางไว้ ทำให้การชี้แจงต้องล่าช้าเนิ่นนานมา แต่ก็โชคดีครับที่การประชุมคณะกรรมการดำเนินการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาได้แนะนำว่าการสัมมนาของสมาชิกที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่นำเสนอขออนุมัตินั้น ยังขาดรายละเอียดและความเหมาะสมบางประการ ขอให้เลื่อนการจัดออกไปก่อน ช่วงนี้ก็เลยมีเวลาได้มาชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ทุนการศึกษากับเพื่อนสมาชิก
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า “ทุนการศึกษาของบุตรสมาชิก” จะเป็นส่วนหนึ่งของ “กองทุนสวัสดิการสมาชิกและครอบครัว พ.ศ. 2566” นั้นคือ เงินทุนที่จะนำมามอบให้เป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรของสมาชิกต้องจัดสรรมาจาก กองทุนสวัสดิการสมาชิก
แล้วเงินกองทุนสวัสดิการมาจากไหนเหรอครับ คำตอบก็คือ เงินกองทุนสวัสดิการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99.99 มาจากการจัดสรรกำไรสุทธิในแต่ละปี ซึ่งกำไรสุทธิก็คือเงินที่จะต้องนำมาจ่ายปันผลให้แก่สมาชิกนั่นเอง เราจะเห็นได้ว่ากำไรสุทธิ คือเงินของสมาชิกผู้ถือหุ้นทุกคนที่จะได้รับตามสัดส่วนการถือหุ้น ดังนั้น ถ้าในรอบปีที่ผ่านมาเราใช้เงินกองทุนสวัสดิการไปมากเท่าไร ก็ต้องตัดเงินกำไรสุทธิที่จะจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นมาสมทบกองทุนสวัสดิการสมาชิกมากขึ้น เงินปันผลของสมาชิกต่อหุ้นจึงต้องลดลง ภาระหน้าที่ของกรรมการคือ ต้องระมัดระวังใช้จ่ายเงินทุนสวัสดิการให้สมเหตุสมผล รักษาความสมดุลของระดับเงินปันผลของสมาชิกทุกท่านให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ไม่ต่ำจนเกินควร
แล้วเงินกองทุนสวัสดิการใช้จ่ายอะไรได้บ้าง หลักคิดในการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกก็คือ สวัสดิการที่สหกรณ์จะจัดขึ้นนั้น ต้องเป็นสวัสดิการที่สมาชิก“ทุกคน”มีสิทธิที่จะได้ใช้บริการ เพราะเงินสวัสดิการเป็นของสมาชิก“ทุกคน” จึงได้มีการกำหนดระเบียบขึ้นมาเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติคือ “ระเบียบว่าด้วยทุนสวัสดิการสมาชิกและครอบครัวปี 2566” โดยกำหนดไว้ว่า ทุนสวัสดิการให้จ่ายได้ดังต่อไปนี้
- สวัสดิการเพื่อสงเคราะห์สมาชิกและครอบครัวที่ถึงแก่กรรม (เป็นไปตามระเบียบฯ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท)
- สวัสดิการเพื่อจ่ายเงินบำเหน็จสมาชิก (รับเมื่ออายุครบ 60 ปีหรือเกษียณอายุราชการ)
- สวัสดิการเพื่อสงเคราะห์สมาชิกผู้ประสบภัยพิบัติ
- สวัสดิการเพื่อส่งเสริมการศึกษาบุตรสมาชิก
- สวัสดิการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร เช่น การช่วยเหลือสมาชิกในเรื่องค่าจัดการศพ ค่าพวงหรีด ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าสวัสดิการที่จัดขึ้นตามข้อ 1, 2, 3 และข้อ 5 เป็นสวัสดิการที่สมาชิก“ทุกคน”มีสิทธิได้ใช้ประโยชน์
แต่สวัสดิการส่งเสริมการศึกษาบุตร สมาชิกที่มีบุตรกำลังศึกษาอยู่เท่านั้นที่มีสิทธิใช้ประโยชน์ แต่ สมาชิกที่ยังเป็นโสด สมาชิกที่สมรสแล้วแต่ไม่มีบุตรและสมาชิกที่บุตรจบการศึกษาเล่าเรียนแล้ว จะไม่มีสิทธิได้ใช้ประโยชน์ การกำหนดวงเงินเพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก จึงต้องกำหนดให้เหมาะสมกับรายได้ของสหกรณ์ เพื่อมิให้กระทบต่อเงินปันผลของสมาชิกในภาพรวม และมุ่งเน้นให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกผู้มีรายได้น้อยเป็นสำคัญ
สหกรณ์ฯ จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติ โดยคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ ผู้มีหน้าที่จัดสรรทุนจึง
ต้องขออนุมัติวงเงินที่จะจัดสรรทุน พร้อมกำหนดจำนวนทุนที่จะมอบให้แก่บุตรของสมาชิก ทุกระดับชั้นการศึกษา จากคณะกรรมการดำเนินการ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จึงออกประกาศสหกรณ์ฯ แจ้งสมาชิกให้ยื่นขอรับทุนตามแบบที่กำหนด จากนั้นจึงนำมาให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด ในระเบียบว่าด้วยการใช้ทุนสวัสดิการสมาชิกและครอบครัวเพื่อส่งเสริมการศึกษาบุตรของสมาชิกปี 2566 แล้วเรียงลำดับคะแนนจากมากที่สุดลงมาตามลำดับ และมอบทุนการศึกษาตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติ เรียงตามลำดับลงมาจนครบถ้วนตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งในการพิจารณามอบทุนการศึกษาบุตรประจำปี 2566 ที่ผ่านมาคณะกรรมการก็ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และขอเรียนยืนยันว่า เราปฏิบัติงานโดยยึดมั่นในผลประโยชน์ของสมาชิก“ทุกคน”เป็นหลัก ไม่มีการแก้ไขระเบียบหรือใช้มติใดๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิกรายหนึ่ง รายใด อย่างแน่นอน
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เพื่อนสมาชิกคงเข้าใจการทำงานของคณะกรรมการได้ชัดเจนมากขึ้นและท่านสามารถขอดูเอกสาร รายละเอียด การทำงานทุกขั้นตอนได้ที่สหกรณ์ตลอดเวลาครับ
ผู้แทนคณะกรรมการประชาสัมพันธ์
(15 มิถุนายน 2566 : 1048 )
หวัดดีครับ เพื่อนๆสมาชิกสหกรณ์ตั้งแต่สถานการณ์ Covid ระบาด เลยไม่ค่อยได้มีโอกาส สื่อสารกันเลยครับ เพราะทุกท่านก็จะมีความระมัดระวัง ป้องกันตัวเอง ไม่อยากเดินทางไปไหน ไม่มีเวลาที่จะสนใจภาระรอบข้างมากนัก ประกอบกับผมเองก็ระมัดระวังตนเองเช่นกัน แต่ก็ดีครับ ได้ใช้เวลาว่างติดตามข่าวสาร ภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยผันผวนมากที่สำคัญ คือ แนวโน้มภาวะดอกเบี้ยมีทิศทางที่สูงขึ้น ทำให้กรรมการสหกรณ์ฯเราติดตาม สถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สถานการณ์ต่างๆคลี่คลายไปมากแล้ว Covid กลายเป็นโรคประจำถิ่น ความผันผวนของดอกเบี้ยลดลง แม้จะยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น สหกรณ์ฯเราเห็นเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรจะพิจารณาปรับโครงสร้างเงินทุนของสหกรณ์ฯ โดยการเพิ่มวงเงินรับฝาก เพิ่มมากขึ้น ผมจึงขอถือโอกาสนี้สื่อสารกับเพื่อนสมาชิกที่เคารพอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
ในการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น กรรมการดำเนินการต้องเข้าใจโครงสร้างทางการเงิน หรือ ทุนของสหกรณ์ แหล่งที่มาของเงินทุน
ทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ
1 เงินหุ้น หรือ ทุนเรือนหุ้นของสมาชิก
2 เงินรับฝากจากสมาชิก
เงินของสหกรณ์ (ทุน) = ทุนเรือนหุ้นของสมาชิก + เงินรับฝากจากสมาชิก
เมื่อมีเงินทุนสหกรณ์ฯจึงทำการให้สินเชื่อแก่สมาชิก กู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาทางการเงิน เปิดโอกาสให้สมาชิกสมารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น หากสมาชิกมีความต้องการใช้เงินสูงกว่าที่สหกรณ์ฯมี กรรมการดำเนินการก็จะจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ โดยการกู้ยืมเพื่อนำเงินมาบริการสมาชิก แต่หากความต้องการใช้บริการทางการเงินมีน้อยกว่าทุนที่สหกรณ์ฯมี สหกรณ์ฯย่อมมีเงินทุนเหลืออยู่ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการจำเป็นต้องบริหารเงินทุนส่วนเกิน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกให้มากที่สุดโดยการนำเงินส่วนเกินนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ ตามกรอบระเบียบที่กฎหมายกำหนด
ปัจจัยสำคัญในการบริหารเงินขอสหกรณ์ออมทรัพย์ คือ
1 ต้นทุนทางการเงินของสหกรณ์ฯ
2 โครงสร้างทางการเงินของสหกรณ์ฯ
- ต้นทุนทางการเงินของสหกรณ์ฯ คือ ค่าใช้จ่ายที่สหกรณ์ฯต้องจ่ายให้แก่แหล่งเงินทุนอันได้แก่ เงินปันผลของทุนเรือนหุ้นของสมาชิก และอัตราดอกเบี้ยจ่ายสำหรับเงินรับฝากจากสมาชิก ซึ่งนับว่ามีส่วนสำคัญต่อการบริหารมากที่สุด เพราะหากกำหนดอัตราผลตอบแทนจ่ายแก่แหล่งเงินทุนต่ำเกินไปเงินทุนก็จะไหลออกจากสหกรณ์ฯ ทำให้สหกรณ์ฯไม่มีเงินเพียงพอที่จะบริการสมาชิก แต่หากกำหนดอัตราผลตอบแทนสูงเกินไป เงินทุนจะไหลเข้าสหกรณ์ฯมากเกินกว่าความต้องใช้ของสมาชิกทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินสูง หรือมีเงินส่วนเกินที่ทำให้ภาวะอัตราดอกเบี้ยจ่ายมีมากขึ้น ปันผลลดลง
คณะกรรมการดำเนินการจึงต้องมีการพิจารณา กำหนดอัตราดอกเบี้ยจ่ายและเงินปันผลให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพคล่องของทุนดำเนินการ อัตราดอกเบี้ยธนาคารและแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต
- โครงสร้างทางการเงินของสหกรณ์ฯ หมายถึง องค์ประกอบหรือสัดส่วนของเงินทุนที่สหกรณ์ฯจัดหามาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งจะประกอบด้วยเงินทุนเรือนหุ้นของสมาชิก เงินรับฝากจากสมาชิก เงินทุนสำรอง เงินทุนสวัสดิการและเงินทุนอื่นๆ ของสหกรณ์ฯรวมถึงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินแต่อย่างไรก็ตามเงินทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ กว่าร้อยละ 90 จะเป็นเงินทุนจากทุนเรือนหุ้นและเงินรับฝากจากสมาชิก
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้แนะนำโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมของสหกรณ์ออมทรัพย์ คือ อัตราส่วนของเงินทุนเรือนหุ้นที่เหมาะสมคือ ประมาณร้อยละ 20 – 30 ของเงินทุนสหกรณ์ฯ ในขณะที่อัตราส่วนเงินรับฝากควรจะเป็นร้อยละ 60 – 70 ของเงินทุนสหกรณ์ฯ
ปัจจุบันสถานะทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง จำกัด อยู่ในสภาวะที่มีสภาพคล่องสูงมาก โดยในปี 2560 สหกรณ์ฯมี เงินทุน(หุ้น+เงินรับฝากจากสมาชิก) เท่ากับ 2,642 ล้านบาท ในขณะที่มีสมาชิกกู้เงินเพียง 1,850 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องล้นระบบอยู่ 790 ล้านบาทที่สหกรณ์ฯจะต้องดูแล ในขณะที่ในปี 2565 เงินทุนสหกรณ์ฯมีสูงกว่า 3,164 ล้านบาท แต่สมาชิกกู้เงินเพียง 1,491 ล้านบาท และมีเงินส่วนเกินถึง 1,600 กว่าล้านบาท คณะกรรมการดำเนินการจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการบางอย่างเพื่อป้องกันมิให้มีสภาพคล่องทางการเงินล้นระบบมากเกินควร อันจะส่งผลกระทบต่อเงินปันผล โดยการลดการสะสมหุ้นของสมาชิกที่มีหุ้นสะสมมาก จึงอาจทำให้เพื่อนๆสมาชิกที่มีหุ้นสะสมสูง จะสงสัยบ้างว่าทำไมสหกรณ์ฯจึงไม่หักเงินค่าหุ้นจากท่านหือหักเงินลดลง ในขณะเดียวกันคณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาโครงสร้างทางการเงินของสหกรณ์ฯพบว่าอัตราส่วนของเงินรับฝากต่อทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ฯในปี 2562 เท่ากับ 1 : 1.2
คือมีเงินรับฝากเพียง 1,312 ล้านบาท แต่มีหุ้นสูงถึง 1,614 ล้านบาท และในปี 2565 สหกรณ์ฯ มีเงินฝาก 1,378 ล้านบาท แต่มีหุ้นถึง 1,785 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนที่เหมาะสมตามคำแนะนำของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ คือ เงินรับฝากควรจะสูงเป็น 3 เท่าของทุนเรือนหุ้น
คณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อเปิดโอกาสให้เพื่อนสมาชิกได้ออมเงินทดแทนการออมหุ้นจึงได้พิจารณาเพิ่มวงเงินรับฝากจากสมาชิก โดยกำหนดให้สมาชิกสามารถฝากออมทรัพย์ได้อย่างไม่จำกัด จำนวนเงินฝาก และให้สมาชิกสามารถฝากออมทรัพย์พิเศษได้ในวงเงิน 300,000 บาท/เดือน
การเพิ่มเงินรับฝากของสหกรณ์ฯจึงไม่ใช่การระดมเงินฝากแต่เป็นการเพิ่มช่องทางการออมให้กับสมาชิกอันเนื่องจากถูกจำกัดการออมหุ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการปรับโครงสร้างทางการเงินของสหกรณ์ฯให้เข้าใกล้มาตรฐานที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ฯแนะนำอีกทางหนึ่งด้วย
(07 กุมภาพันธ์ 2566 : 597 )
สวัสดีครับ เพื่อนๆสมาชิกสหกรณ์ฯทุกท่านช่วงนี้ได้ดำเนินการปิดบัญชีของสหกรณ์ฯเรียบร้อยแล้วผมจึงสรุปภาพรวมของการลงทุน ในปี 2565 ของสหกรณ์ฯ และประมาณการวงเงินที่จะลงทุนในปี 2566 เพื่อเพื่อนสมาชิกจะได้ทราบในเบื้องต้นครับ
ในปี 2565 สหกรณ์ฯมีรายได้จากการลงทุนและผลตอบแทนจากการฝากเงินกับ สหกรณ์อื่นประมาณ 62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 4 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 38.61 ของรายได้ของสหกรณ์ฯ ซึ่งในปี 2566 คาดว่ารายได้ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของรายได้สหกรณ์ฯ
กรอบการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง จำกัด
ในปี 2566 สหกรณ์ฯยังคงมุ่งมั่นเน้นและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเงินลงทุนมากกว่าผลตอบแทนในระดับสูง โดยยึดหลักปฏิบัติตามข้อกฎหมายระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด
ในปี 2566 การลงทุนของสหกรณ์ปรับเปลี่ยนจากกรอบเดิมเล็กน้อย โดยเน้นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น ลดการซื้อหุ้นในชุมนุมสหกรณ์และหุ้นกู้ลดลง โดยปรับเป็นการฝากในสหกรณ์อื่นเพิ่มมากขึ้น ดังนี้
1 จัดซื้อพัฒธบัตรรัฐบาลร้อยละ 15 ของเงินลงทุน เป็นวงเงินประมาณ 54 ล้านบาท
2 ฝากในชุมนุมสหกรณ์และสหกรณ์อื่นร้อยละ 40 ของเงินลงทุนเป็นวงเงินประมาณ 143 ล้านบาท
3 ซื้อหุ้นชุมนุมสหกรณ์และ/หรือหุ้นกู้ร้อยละ 45 ของเงินลงทุนเป็นวงเงินประมาณ 160 ล้านบาท
ประมาณการวงเงินลงทุนในปี 2566
1 เงินค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นมา 50 ล้านบาท
2 เงินรับฝากที่เพิ่มขึ้น 20 ล้านบาท
3 หุ้นกู้และเงินฝากสหกรณ์อื่นที่ครบกำหนด 217 ล้านบาท
4.ประมาณการเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกเพิ่มขึ้น/ลดลง 70 ล้านบาท
รวม ประมาณการเงินลงทุนในปี 2566 ทั้งสิ้น
=(50+20+217) - (-70) = 357 ล้านบาท
(03 ตุลาคม 2565 : 445 )
สวัสดีครับ พี่ๆเพื่อนๆ สมาชิกที่เคารพ ในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ ท่านสมาชิกที่เคารพทุกท่านคงคุ้นเคยกับธุรกรรมการลงทุนของสหกรณ์ฯ กันมาบ้างพอสมควรแล้ว แต่อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับสมาชิกหลายๆ ท่านก็พอสรุปได้ว่าเพื่อนๆ สมาชิกบางส่วนยังไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนของสหกรณ์ฯ มากนักจึงมักจะมีคำถามอยู่เสมอ ว่าทำไมต้องลงทุน ลงทุนในหุ้นมันเสี่ยงเกินไปหรือเปล่า ถูกกฎหมายหรือเปล่า ผมในฐานะประธานการลงทุนเห็นว่าควรต้องเปิดคอลัมน์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในสื่อออนไลน์ของสหกรณ์ฯ เพื่อให้สมาชิกใช้เป็นช่องทางในการติดต่อ สอบถามข้อสงสัยต่างๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และใช้เป็นช่องทางในการรายงานให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เป็นสมาชิกทุกท่านได้ทราบความเคลื่อนไหวของกิจกรรมการลงทุนของสหกรณ์ฯรวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นนับจากนี้เป็นต้นไป เรียนเชิญทุกท่านติดตามได้นะครับ หากมีข้อสงสัยสอบถาม กรุณาติดต่อตามช่องทางดังนี้
เว็บไซต์ : fishcorp.in.th
เฟสบุ๊ค : facebook.com/DOFFishcorp
เพจเฟสบุ๊ค : สหกรณ์ออมทรัพย์กรมประมง จำกัด